The creative process

กระบวนการสู่ความสร้างสรรค์

โดย เปาโล โคเอลโย

กระบวนการในการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านวรรณกรรม วิศวกรรม หรือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งกับความรัก ล้วนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แบบเดียวกัน นั่นคือ วัฏจักรแห่งธรรมชาติ ต่อไปนี้คือขั้นตอนต่างๆ เพื่อไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์

  • ไถพรวนดิน – ชั่วขณะที่หน้าดินถูกพลิกขึ้น ออกซิเจนจะแทรกตัวเข้าไปในบริเวณที่เคยถูกกดทับเอาไว้ ผืนดินดูเปลี่ยนไป ดินที่เคยอยู่ด้านบนตอนนี้ถูกกลบไปอยู่ด้านล่าง และดินที่เคยอยู่ด้านล่างถูกพลิกขึ้นมาด้านบน กระบวนการเปลี่ยนแปลงจากภายในเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การที่เรารู้จักประเมินคุณค่าที่อยู่ภายในจะทำให้เรามองชีวิตอย่างไร้เดียงสาอีกครั้งแบบไม่ต้องใช้ความคิดมากจนเกินไป เราจะรู้สึกไม่ต่างจากดินที่ถูกพลิกขึ้นมาสัมผัสแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกและรู้สึกได้ถึงพลังอันเจิดจ้าของมัน และเมื่อนั้น เราจะพร้อมรับความอัศจรรย์จากแรงบันดาลใจ นักสร้างสรรค์ที่ดีต้องรู้จักปรับเปลี่ยนคุณค่าภายในอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่พอใจเพียงแค่คุณค่าที่ตนเชื่อมั่นว่าเข้าใจมันถ่องแท้
  • หว่านเมล็ด – การงานทุกชนิดเป็นผลผลิตมาจากการได้สัมผัสกับชีวิต ไม่มีนักสร้างสรรค์คนไหนขังตัวเองอยู่แต่ในหอคอยงาช้าง เขาจำเป็นต้องสัมพันธ์และแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะเขาไม่มีทางรู้ว่าสิ่งใดที่เขาได้พบเจอในวันนี้จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้น ยิ่งเขาใช้ชีวิตเข้มข้นมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ดังที่ เลอ คอร์บูซิเยร์ (สถาปนิกชื่อดัง) เคยกล่าวเอาไว้ว่า “เมื่อใดที่มนุษย์พยายามบินโดยเลียนแบบนก เขาไม่มีวันทำสำเร็จ” แนวคิดเดียวกันนี้ใช้ได้กับศิลปิน หน้าที่ของศิลปินคือสื่อสารอารมณ์ออกมา แต่เขามิอาจเข้าใจทุกแง่มุมของความรู้สึกนั้น และหากเขาพยายามจะเลียนแบบหรือควบคุมแรงบันดาลใจของตน เขาจะไม่มีวันไปถึงสิ่งที่เขาปรารถนา ศิลปินจำต้องปล่อยให้ชีวิตมีอิสระในการหว่านเมล็ดพันธุ์บนผืนดินอันอุดมของจิตที่อยู่ลึกลงไปภายในด้วย
  • เติบโต – มีบางครั้งที่งานเขียนหลั่งไหลออกมาเองจากก้นบึ้งแห่งจิตวิญญาณของนักเขียน โดยยังไม่เปิดเผยตัวทั้งหมด เช่นในงานวรรณกรรม บางครั้งหนังสือก็มีอิทธิพลเหนือผู้เขียน หรืออาจเป็นไปในทางกลับกัน ชั่วขณะเช่นนี้เองที่ คาร์ลอส ดรุมมอนด์ เดอ อันแดรด กวีชาวบราซิล เคยอธิบายไว้ว่า เขาไม่น่าดึงดันที่จะสืบเสาะหาวลีที่หลุดลอยไป เพราะวลีเหล่านั้นอาจไม่สมควรที่จะออกมาโลกภายนอก ในช่วงแห่งการเติบโตนี้ มีบางคนที่ผมรู้จักใช้เวลาทั้งชีวิตจดบันทึกทุกสิ่งที่เขานึกขึ้นมาได้ โดยไม่เคยใส่ใจสิ่งที่ผุดขึ้นมาในส่วนที่ลึกที่สุดของจิตใจ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ บันทึกเหล่านั้นซึ่งเป็นผลผลิตจากความจำไปรบกวนการเติบโตของแรงบันดาลใจ ด้วยเหตุนี้ นักสร้างสรรค์จำเป็นต้องอดใจรอในช่วงเวลาแห่งการเติบโต เช่นเดียวกับชาวนาที่รู้ว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมปัจจัยทั้งหมด เพราะอาจจะเจอหน้าแล้งหรือฤดูน้ำหลากก็ได้ แต่หากเขาเรียนรู้ที่จะรอคอย ต้นกล้าที่แข็งแรงซึ่งสามารถยืนหยัดผ่านภูมิอากาศอันเลวร้ายมาได้จะค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
  • เก็บเกี่ยว – นี่เป็นจังหวะที่มนุษย์จะปรากฏตัวบนผืนดินที่เขาหว่านเมล็ดและปล่อยให้เมล็ดเหล่านั้นเติบโต หากเขาเก็บเกี่ยวแต่เนิ่นๆ ผลที่ได้จะมีสีเขียว แต่ถ้าเก็บเกี่ยวช้าเกินไป ผลที่ได้ก็จะเน่าเสียไปก่อน ศิลปินทุกคนจะรู้เมื่อจังหวะนี้มาถึง แม้ว่าบางมุมมองอาจยังไม่พัฒนาเต็มที่ แนวคิดบางอย่างอาจยังไม่กระจ่างชัด แต่สิ่งเหล่านั้นจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนในขณะที่งานเดินหน้าไป นักสร้างสรรค์รู้ว่าถึงเวลาที่เขาต้องมุมานะตั้งแต่เช้ายันค่ำเพื่อให้งานเสร็จสิ้น โดยปราศจากความกลัวและเต็มเปี่ยมไปด้วยวินัย

แล้วเราจะทำอะไรกับผลผลิตที่ได้มาดี ถึงตอนนี้เราต้องมองกลับไปที่ธรรมชาติอีกครั้ง สิ่งที่เธอทำคือการแบ่งปันกับทุกๆ คน ศิลปินที่อยากเก็บงานเอาไว้กับตัวกำลังฉ้อโกงชั่วขณะที่เขาได้รับมา และเป็นการหักหลังสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ ถ้าเราเก็บผลผลิตเอาไว้ในยุ้งฉาง คุณค่าของมันจะลดลงแม้ว่าเราจะเก็บเกี่ยวถูกเวลา เมื่อการเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง มันเป็นเวลาของการแบ่งปันผลผลิตจากจิตวิญญาณของคุณ โดยไม่ต้องกลัวหรืออับอายแต่อย่างใด

และนี่คือหน้าที่ของศิลปิน ไม่ว่ามันจะเจ็บปวดหรือสุขล้ำสักเพียงใด

The Art of Intervention

ศิลปะแห่งการแทรกแซง
จณัญญา เตรียมอนุรักษ์

วันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2000 ขณะที่ฝูงชนกำลังเดินชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์เทท โมเดิร์นอย่างเพลิดเพลิน (หรือไม่ก็ด้วยความมึนงง) ชายชาวจีนสองคนเดินเข้ามาในห้องที่มีผลงาน น้ำพุ (Fountain) อันโด่งดังของมาร์เซล ดูชองป์ตั้งอยู่ และโดยไม่มีใครคาดคิด พวกเขาเดินไปยืนอยู่คนละฝั่งของผลงานและปัสสาวะใส่มันยาวนานถึงนาทีกว่าๆ

Two Artists Piss on Duchamp’s Urinal 2000

แม้จะเป็นการกระทำที่อุกอาจและอนาจารอยู่พอสมควร แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครตื่นตระหนกตกใจมากนัก ผู้ชมส่วนหนึ่งถึงกับปรบมือให้ด้วยเข้าใจว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ เจ้าหน้าที่หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จนกระทั่งมีการโพสต์เนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับผลงานการแสดงชิ้นล่าสุดที่มีชื่อว่า Two Artists Piss on Duchamp’s Urinal (สองศิลปินฉี่รดโถปัสสาวะของดูชองป์) โดย หยวนไค (Yuan Cai) และ เจียนจุ่นซี (Jian Jun Xi) ศิลปินคู่หูที่สร้างสรรค์งานแนวเฟอร์ฟอร์มานซ์หรือรูปแบบศิลปะที่สื่อสารผ่านการแสดงสด พวกเขาพูดถึงผลงานชิ้นดังกล่าวว่าเป็น “การเฉลิมฉลองจิตวิญญาณของศิลปะร่วมสมัย”
หนึ่งปีก่อนหน้านั้น ผลงานการแสดงสดอีกชิ้นหนึ่งของสองศิลปินชาวจีนเป็นข่าวดังไปทั่วเกาะอังกฤษ เมื่อพวกเขาเปลือยกายจนเหลือแต่กางเกงชั้นในขึ้นไปกระโดดโลดเต้นอยู่บน เตียงนอน (My Bed) ของเทรซี เอมิน ซึ่งเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการรางวัลเทอร์เนอร์ที่พิพิธภัณฑ์เทท โมเดิร์น โดยให้เหตุผลว่า พวกเขากำลังพัฒนางานของเอมินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แนวคิดและกระบวนการในการทำงานของงานทั้งสองชิ้นคล้ายคลึงกัน นั่นคือการเข้าไปแทรกแซงงานศิลปะที่มีอยู่เดิมเพื่อสร้างงานศิลปะขึ้นใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “Art Intervention” อันเป็นแนวทางในการทำงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยจำนวนหนึ่ง สิ่งเดียวที่อาจจะแตกต่างกันคือ ในผลงานชิ้นหลังหยวนไคและเจียนจุ่นซีถูกจับ โชคดีว่าศิลปินเจ้าของผลงานและพิพิธภัณฑ์ไม่ตั้งข้อหา พวกเขาจึงรอดตัวมาได้

 

Two Artists Jump on Tracey Emin’s Bed 1999

ผลงานของหยวนไคและเจียนจุ่นซีเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเป็นไปในโลกศิลปะร่วมสมัยได้อย่างเด่นชัด
นั่นคือ ความพยายามในการก้าวข้ามพรมแดนที่เคยกำหนดขอบเขตโลกศิลปะสมัยใหม่ไปสู่พื้นที่อันกว้างไกลของโลกแห่งชีวิตจริง แต่ชีวิตจริงก็คือชีวิตจริง ผู้คนส่วนใหญ่ต้องการอะไรที่คาดเดาได้ ไม่มีใครอยากเสี่ยงไปกับเรื่องที่ทำให้ประหลาดใจอยู่ตลอดเวลา นานวันเข้า ชีวิตจริงจึงไม่ต่างจากกิจวัตร มันเป็นสิ่งที่เราทำซ้ำๆ จนมั่นใจและคุ้นเคย และหากมีใครหาญกล้าเข้ามาพยายามเปลี่ยนมัน เราอาจไม่ค่อยพอใจนัก เมื่อบอกกันตรงๆ ไม่ได้ ศิลปินจำนวนหนึ่งจึงเลือกที่จะท้าทายความคิดที่ฝังรากลึกในสังคมด้วยการ “แทรกแซง” เข้าไปในสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคย โดยหวังว่าจะช่วยทำให้พวกเขาฉุกคิดถึงอะไรที่นอกเหนือไปจากโลกทัศน์แบบเดิมๆ ได้บ้าง
ศิลปินคนแรกๆ ที่หาญกล้าทำเช่นนั้นหาใช่ใครอื่น หากแต่คือ มาร์เซล ดูชองป์ เจ้าของผลงาน น้ำพุ ที่ถูกศิลปินชาวจีนเข้าแทรกแซงนั่นเอง
ในปี 1917 มาร์เซล ดูชองป์ส่งผลงาน น้ำพุ เข้าร่วมในนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก โดยใช้นามแฝงว่า ริชาร์ด มัทท์ เพื่อปกปิดสถานะที่แท้จริงของตน เนื่องจากขณะนั้นดูชองป์เป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จักกันดี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม แม้สมาคมจะประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่มีการเซ็นเซอร์ งานศิลปะทุกชิ้นที่ส่งเข้าร่วมจะได้รับการจัดแสดงอย่างเท่าเทียม แต่เสียงส่วนใหญ่กลับลงมติว่า น้ำพุ ไม่ใช่งานศิลปะ มันเป็นเพียงโถปัสสาวะเท่านั้น น้ำพุ จึงถูกเก็บเอาไว้ในกรุและไม่ได้ออกไปอวดโฉมต่อสาธารณะอย่างที่ควรจะเป็น เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ดูชองป์ลาออกจากคณะกรรมการของสมาคม และเปิดเผยความจริงว่าเขานั่นเองที่เป็นผู้สร้างสรรค์ น้ำพุ ขึ้นมา
นิยามของงานศิลปะที่แต่เดิมถูกจำกัดอยู่กับรูปแบบของจิตรกรรม ภาพพิมพ์ หรือประติมากรรม กำลังถูกดูชองป์ท้าทายอย่างถึงแก่น โดยดูชองป์กำลังบอกว่า “แนวคิด” (idea) ต่างหากคือสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด และหากเขาจะนำ “วัตถุสำเร็จรูป” (Readymade) อย่างโถปัสสาวะมาใช้สื่อแนวคิดบางอย่าง แน่นอนว่ามันคืองานศิลปะ ดังเช่นคำอธิบายในบทความ “กรณีของริชาร์ด มัทท์” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร The Blind Man ที่กล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าคุณมัทท์จะสร้าง น้ำพุ ขึ้นมาด้วยตนเองหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย เขาเลือกมัน เขานำวัตถุธรรมดาสามัญในชีวิตมาวางไว้ในบริบทใหม่และตั้งชื่อให้ต่างออกไป จนทำให้เรื่องของประโยชน์ใช้สอยดั้งเดิมถูกมองข้าม อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับวัตถุนั้น”

 

Fountain (1919) – 1964 replica

สองปีถัดมา ดูชองป์ตอกย้ำข้อความที่เขาต้องการจะสื่ออีกครั้งโดยทะลวงเข้าไปจนถึงแกนกลางของศิลปกรรมแบบโบราณ นั่นคือ โมนา ลิซ่า โดยดูชองป์นำภาพโปสการ์ดของเธอมาแต่งเติมให้มีสีสันมากขึ้นด้วยการวาดหนวดและเคราลงไป พร้อมเสริมคำบรรยายใต้ภาพว่า L.H.O.O.Q. ซึ่งเมื่ออ่านออกเสียงในภาษาฝรั่งเศสแบบเร็วๆ จะได้ความว่า “Elle a chaud au cul” หรือ “เธอช่างร้อนแรงเสียจริง” ผลงานชิ้นดังกล่าวกลายเป็นภาพสัญลักษณ์ของกลุ่มดาดาในนิวยอร์กที่แสดงให้เห็นการต่อสู้กับขนบด้วยอารมณ์ขันมากกว่าจะผลักดันด้วยความโกรธเกรี้ยวแบบในยุโรป

L.H.O.O.Q. (1919) by Marcel Duchamp

การพลิกแพลงและอารมณ์ขันจึงคืออาวุธสำคัญของดูชองป์ เพื่อแทรกแซงเข้าไปที่ใจกลางความคิดเกี่ยวกับศิลปะแบบเดิมที่เขามองว่าเริ่มจะคับแคบเกินไปในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง ศิลปินไม่ได้มีหน้าที่ในการนำเสนอโลกตามที่ตาเห็นอีกต่อไป เพราะโลกในปัจจุบันซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายด้วยสื่อแบบใดแบบหนึ่ง หน้าที่ของศิลปินอาจเป็นเพียงการหยิบยื่นกุญแจแห่งความคิด ให้ผู้ชมเป็นผู้ไขประตูปริศนาต่างๆ ด้วยตนเองตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ กระบวนการในการสร้างสรรค์ไม่ได้ผูกติดอยู่กับตัวศิลปินอีกต่อไป แต่ผลงานจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อผู้ชมเข้ามาร่วมสัมผัสรับรู้และเกิดการปฏิสัมพันธ์ขึ้น ดังคำพูดของดูชองป์ที่บอกว่า “ผู้ชมเป็นผู้เชื่อมโยงผลงานเข้ากับโลกภายนอกด้วยการถอดรหัสและตีความความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์”
แนวคิดแบบดังกล่าวเปิดความเป็นไปได้ให้กับศิลปินรุ่นหลัง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกศิลปะ ถึงตอนนี้ ผู้ชมไม่ได้เป็นผู้ตั้งรับอีกต่อไป หากแต่คือกลไกสำคัญในการสร้างสรรค์ อาจมีข้อถกเถียงตามมามากมายว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน อะไรๆ ก็เป็นศิลปะได้หมดหรือ แม้จะยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ความไม่ชัดเจนหยิบยื่นให้ก็คือ มันทำให้เกิดการตั้งคำถาม อันเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนา ที่ดูมีทีท่าว่าคงไม่จบลงง่ายๆ จนกว่าใครจะหาจังหวะในการแทรกแซงบทสนทนาได้ดีกว่ากัน

 

ตัวอย่างศิลปะแห่งการแทรกแซง

Sweep It Under the Carpet by Banksy (2007)

ศิลปินแนวกราฟฟิติเชื่อว่างานศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ หากแต่สามารถกลมกลืนไปกับชีวิตของผู้คนตามท้องถนนได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมายาวนานว่ากราฟฟิติถือเป็นงานสร้างสรรค์หรือการทำลายข้าวของ แต่ปัจจุบันกราฟฟิติถือเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งโดยมีผู้นำขบวนคนสำคัญอย่างแบงค์ซี่ (Banksy) ซึ่งนิยมสร้างงานด้วยเทคนิคสเตนซิล ความหลักแหลมในการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เดิมให้มีความหมายใหม่ๆ ทำให้งานของแบงค์ซี่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเริ่มเป็นที่ต้องการของนักสะสมจำนวนมาก ผลงานชิ้นหนึ่งของเขาเคยถูกประมูลไปด้วยราคาสูงถึงกว่า 200,000 ปอนด์ ทั้งที่ครั้งหนึ่งงานกราฟฟิติเหล่านี้เคยถูกมองว่าเป็นฝีมือของพวกมือบอนข้างถนนเท่านั้น

 

Women Are Heroes in Kibera Slum, Kenya (2009) by JR

Women Are Heroes in Kibera Slum, Kenya (2007) by JR

JR ศิลปินชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า ท้องถนนคือหอศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขามักใช้สื่อภาพถ่ายโดยนำมาขยายขนาดและนำไปติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือชุมชนแออัดคิเบราในประเทศเคนยา JR บอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานที่นั่นว่า ชาวบ้านอาจไม่รู้ว่าศิลปินอย่างเขาต้องการสื่ออะไร แต่การที่ภาพเหล่านั้นทำจากวัสดุกันน้ำซึ่งช่วยปิดรอยรั่วบนหลังคาก็เพียงพอแล้วที่พวกเขาจะชอบมัน

 

Haas&Hahn’s Favela Painting project at Praça Cantão, Communidade da Santa Marta, Rio de Janeiro

Favela Painting project at Praça Cantão, Communidade da Santa Marta, Rio de Janeiro

Haas&Hahn คือชื่อของศิลปินคู่หู Jeroen Koolhaas และ Dre Urhahn หลังจากถ่ายทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับดนตรีในบราซิลให้กับช่อง MTV พวกเขาก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างงานศิลปะในที่ที่คนคาดไม่ถึง เกิดเป็นโปรเจ็คต์ Favela Painting เพื่อวาดภาพบนกำแพงของชุมชนแออัดต่างๆ ในบราซิล เช่นที่ชุมชนซานตา มาร์ตาในเมืองริโอ เดอ จาเนโร ผลงานของศิลปินทั้งสองนอกจากจะช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมโดยรวมให้สวยงามแล้ว ยังทำให้ชุมชนได้รับความสนใจจากโลกภายนอกมากยิ่งขึ้นด้วย

 

Adrian Kondratowicz’s TRASH: anycoloryoulike project

TRASH: anycoloryoulike คือโปรเจ็คต์ศิลปะสาธารณะที่มุ่งหวังจะสร้างความสวยงามให้กับเมืองพร้อมๆ ไปกับการกระตุ้นให้เกิดความใส่ใจต่อสภาวะแวดล้อม โดยศิลปินขอความร่วมมือจากคนในชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ใช้ถุงขยะที่ออกแบบขึ้นใหม่ ซึ่งเมื่อถูกนำไปทิ้งรวมกันก็จะกลายสภาพเป็นประติมากรรมที่มีสีสันสดใสขึ้นมา

 

Hermann Josef Hack’s Climate Refugee Camp, Berlin (2009)

เช้าวันที่ 26 มกราคม ปี 2009 ศิลปินเยอรมัน แฮร์มานน์ โยเซฟ ฮัค นำเต็นท์จำลองขนาดเล็กกว่า 400 หลังไปจัดวางหน้าประตูเมืองบรานเดนเบอร์เกอร์ (Brandenburger Gate) ในกรุงเบอร์ลิน อันเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน Climate Refugee Camp วัตถุประสงค์ของงานคือต้องการให้ผู้ชมตระหนักถึงบุคคลที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ฮัคเชื่อว่าการแสดงผลงานในที่สาธารณะเช่นนี้จะทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้ชมและผลงาน โดยตัวศิลปินทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ปฏิกิริยาที่ผู้ชมแสดงออกมา

 

Rirkrit Tiravanija’s Untitled (Free) at the Museum of Modern Art, New York

ในปี 1992 ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช สร้างสรรค์ผลงาน Untitled (Free) ขึ้นที่ 303 Gallery ในนครนิวยอร์ก โดยศิลปินแปลงสภาพแกลเลอรีให้กลายเป็นห้องครัวและเสิร์ฟข้าวกับแกงร้อนๆ ให้กับผู้เข้าชมฟรี ผลงานชิ้นดังกล่าวนำเสนองานเชิงแนวคิด (conceptual) โดยศิลปินเชิญชวนผู้เข้าชมให้มาปฏิสัมพันธ์ (interact) กับศิลปะในรูปแบบใหม่ ที่ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างศิลปินกับผู้เสพงานศิลปะเลือนราง ดังความเห็นของฤกษ์ฤทธิ์ที่กล่าวว่า “งานศิลปะคือพื้นที่ให้ผู้คนได้ปฏิสังสรรค์ทั้งกับตัวงานและผู้เข้าชมคน อื่นๆ … เพราะฉะนั้น คุณไม่ได้กำลังมองงานศิลปะ หากแต่คุณอยู่ในงานศิลปะ คุณกำลังเป็นส่วนหนึ่งของมัน”

 

The Art of Intervention : ศิลปะแห่งการแทรกแซง โดย จณัญญา เตรียมอนุรักษ์ – ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เพื่อน (ThaiPBS Magazine) ฉบับเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2555 / Vol.03